1. วัตถุประสงค์
เพื่อสนับสนุนอาจารย์ และ/หรือนักวิจัยที่กำลังค้นคว้าหรือมีโครงการในการค้นคว้างานที่เป็นรากฐานอันจะอำนวยประโยชน์ให้แก่การพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย โดยเฉพาะในสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา (เน้นงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากข้าว) ฟิสิกส์ (เน้นงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาวัสดุสารกึ่งตัวนำ) เคมี และวิศวกรรมศาสตร์ ยกเว้นคณิตศาสตร์และแพทยศาสตร์คลินิก โดยในปีนี้มูลนิธิฯ จะให้ความสำคัญกับงานวิจัยทางเคมีที่นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ผู้ขอรับทุนจะต้องเป็นอาจารย์/นักวิจัยที่มีประวัติความสำเร็จในผลงาน เป็นที่ยอมรับของบุคคลในวงการนั้นๆ เป็นอย่างดี หรือมีศักยภาพที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถให้เป็นที่ยอมรับในสาขานั้นๆ ในอนาคต
2. ขอบเขตการสนับสนุน
เงินทุนที่ให้จะให้การสนับสนุนเรื่องค่าตอบแทนแก่ผู้ทำการวิจัยและผู้ช่วยวิจัยในโครงการเป็นหลัก และส่วนหนึ่งจะให้การสนับสนุนการเดินทางไปเสนอผลงานวิจัยในต่างประเทศรวมทั้งการเผยแพร่ผลงาน บางส่วนอาจให้เป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าวัสดุในการดำเนินการวิจัย ทั้งนี้โครงการที่เสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ ควรเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากแหล่งทุนอื่นอยู่แล้ว โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ ถือเป็นการสนับสนุนโครงการวิจัยนั้นๆ เพิ่มเติมในบางส่วนเท่านั้น
3. ผู้มีสิทธิสมัคร
อาจารย์หรือนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน หรือนักวิจัยในสถาบันวิจัยของรัฐและรัฐวิสาหกิจในประเทศไทยที่ต้องการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาที่กล่าวข้างต้น โดยบุคคลที่สมัครต้องมีสัญชาติไทยและปฏิบัติงานวิจัยในประเทศไทย
4. เกณฑ์การพิจารณา
- 4.1 งานวิจัยจะต้องเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อส่วนรวมในสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี และวิศวกรรมศาสตร์ และเป็นงานวิจัยที่มีศักยภาพสูงในการตอบความ ท้าทายของโลกปัจจุบันและในอนาคต (ดูตัวอย่างโครงการที่เคยได้รับทุนในปีก่อนๆ ได้ที่ https://www.ttsf.or.th) (ในปีนี้มูลนิธิฯ จะเน้นให้ความสำคัญกับงานวิจัยทางเคมีที่นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์)
- 4.2 วิธีการและแผนงานวิจัยถูกต้องและเหมาะสมตามแบบแผนเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นๆ
- 4.3 ผู้วิจัยจะต้องเป็นผู้มีประวัติความสำเร็จในผลงานเป็นที่ยอมรับของบุคคลในวงการนั้นๆ เป็นอย่างดี และ/หรือมีศักยภาพที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถในสาขาของงานให้เป็นที่ยอมรับในวงการต่อไป อีกทั้งมีศักยภาพที่จะผลิตนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพในสาขานั้นๆ ได้
- 4.4 ข้อเสนอโครงการต้องระบุชัดเจนถึงประเด็นปัญหาหรือที่มาที่นำมาสู่การวิจัยในเรื่อง/หัวข้อที่เสนอ โดยมีการอ้างอิงถึงงานวิจัยที่ได้มีการทำมาแล้วหรือที่มีผู้อื่นกำลังทำอยู่ในเรื่องนั้นๆ ด้วย รวมทั้งระบุชัดเจนถึงสิ่งที่จะได้รับจากงานวิจัยนี้ว่าจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือมีส่วนที่ทำให้เข้าใจถึงสิ่งที่เป็นปัญหาหรือเป็นที่สงสัยนั้นได้ถ่องแท้ขึ้นอย่างไร ชื่อโครงการควรกะทัดรัดและสื่อถึงเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญของงานวิจัยที่ทำ
- 4.5 โครงการที่เสนอขอรับทุนช่วยเหลือการวิจัยจากมูลนิธิฯ ควรได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยหลักจากแหล่งทุนอื่นอยู่แล้ว
- 4.6 สถาบันต้นสังกัดของผู้ที่ได้รับเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยจากมูลนิธิฯ มีการกระจายตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อย่างเหมาะสม
5. ผลงานที่คาดหวัง
- 5.1 การตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science (Science Citation Index Expanded: SCIE) หรือฐานข้อมูล Scopus (สาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง) หรือ
- 5.2 การเสนอผลงานในการประชุมระดับนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับ หรือ
- 5.3 มีการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือเชิงสาธารณประโยชน์ หรือ
- 5.4 สิทธิบัตร หรือ
- 5.5 การผลิตนักวิจัยรุ่นใหม่ ในรูปของบัณฑิตระดับปริญญาโท/เอก
6. การประเมินผลสำเร็จ
จะพิจารณาจากผลงานของนักวิจัยผู้ได้รับทุนในรูปแบบต่างๆ ตามที่ระบุในข้อ 5.
7. จำนวนเงินอุดหนุน
ทุนนี้จะให้การสนับสนุนรายละไม่เกิน 400,000 บาท ต่อปี ทั้งนี้ขึ้นกับขอบเขตงานของโครงการโดยจะมีจำนวนทุนทั้งสิ้นประมาณ 15-20 ทุนต่อปี ในกรณีที่เป็นโครงการที่ใช้ระยะเวลามากกว่า 1 ปี จะได้รับการพิจารณาปีต่อปีโดยนักวิจัยจะต้องทำข้อเสนอเพื่อขอรับทุนใหม่ทุกปี